“กลุ่มช่วงวัย” เหตุใดจึงสำคัญต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน?? จากผลรายงานตัวเลขข้อมูล 3 ฐาน กล่าวถึงกลุ่มผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไทยมากที่สุด คือ “กลุ่มวัยทำงาน” ซึ่งมีสัดส่วนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทะยานสูงมากกว่ากลุ่มเด็กเยาวชน และกลุ่มผู้สูงอายุ

ซึ่งความแตกต่างของ “กลุ่มช่วงวัย” อาจเป็นผลจากลักษณะเฉพาะในแต่ละกลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน อาจอยู่ในฐานะ “นักขับมือใหม่-ใจร้อน-ไร้ประสบการณ์” กลุ่มสูงวัย “นักขับรุ่นใหญ่-ตัดสินใจช้า-สมรรถภาพทางกายถดถอย” สองกลุ่มนี้จึงถูกจัดอยู่ใน“กลุ่มผู้เปราะบางบนถนน” (Vulnerable Road Users : VRUs)

สำหรับประเทศไทย การศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างวัยมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะงานวิจัยด้านความปลอดภัยของกลุ่มรถจักรยานยนต์ ดังนั้น จึงนำมาสู่การค้นหาคำตอบต่อประเด็น “ความแตกต่างระหว่างวัย” (กลุ่มวัย) ว่ามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุต่อพฤติกรรมการขับขี่ของกลุ่มผู้ขับรถยนต์ไทยอย่างไร

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาและสำรวจพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนนที่เหมาะสมของ “กลุ่มรถยนต์” ตามความแตกต่างระหว่างวัย อีกทั้ง สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและวางแผนมาตรการ หรือนโยบายเพื่อความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มผู้ขับรถยนต์ตามกลุ่มวัยได้

ขอบเขตการศึกษา

การศึกษาและวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการขับขี่ในเชิงลึกของความแตกต่างระหว่างวัย (กลุ่มวัย) ประเทศไทย ได้ดำเนินการสำรวจและเก็บข้อมูลผู้ขับรถยนต์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีประสบการณ์ขับรถยนต์ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปรวมทั้งสิ้นจำนวน 800 ราย โดยจำแนกตามกลุ่มวัย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มวัย Baby Boomers ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ.2489-2507 (อายุ 58-76 ปี) 2.กลุ่มวัย X ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ.2508-2522 (อายุ 43-57 ปี) 3.กลุ่มวัย Y ผู้ที่เกิดช่วงปี พ.ศ.2523-2540 (อายุ 25-42 ปี) และ 4.กลุ่มวัย Z ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ขึ้นไป (อายุน้อยกว่า 25 ปี) ในพื้นที่ 5 จังหวัดตัวแทนระดับภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และเชียงใหม่

ผลการศึกษา

รูปแบบ “พฤติกรรมเสี่ยง” ต่อการปฏิบัติตามกฎจราจรในแต่ละกลุ่มวัย มีข้อค้นพบดังนี้

  1. ความก้าวร้าว (Aggressive)
  • “ทุกกลุ่มวัย” มีโอกาสที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หากขับขี่โดยใช้อารมณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัย X, Y และ Z ในลักษณะที่มีการกระทำหรือพฤติกรรมขับขี่ที่ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งอันตรายอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ขับขี่เอง และ/หรือส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นได้ ได้แก่ การตั้งใจขับรถช้าเพื่อแกล้งรถคันอื่นที่เร่งรีบ การใช้แตรเพื่อแสดงความหงุดหงิดหรือโกรธ และการเร่งออกรถเป็นคันแรกเพื่อเมื่อเห็นสัญญาณไฟเขียว
  1. ความพลั้งเผลอละเลย (Lapses)
  • “ทุกกลุ่มวัย” มีโอกาสที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หากเสียสมาธิในขณะขับขี่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัย Z ในลักษณะที่มีการกระทำหรือพฤติกรรมขับขี่ที่เกิดจากความผิดพลาดที่กระทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้ตัวหรือหลงลืม ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการขับขี่ได้ ได้แก่ การไม่ได้สังเกตบริเวณทางม้าลายว่ามีคนรอข้ามทางม้าลายหรือไม่ และการเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น
  1. การละเมิดกฎจราจร (Violation)
  • “ทุกกลุ่มวัย” มีโอกาสที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร หากมีพฤติกรรมขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัย Baby Boomers, X และ Z ในลักษณะที่มีพฤติกรรมขับขี่อย่างตั้งใจ ที่จะละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎจราจร ได้แก่ การขับจี้ท้ายคันหน้า การตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด การเบรกรถระยะกระชั้นชิด การซิกแซ็กเปลี่ยนเลนไปมา และการแซงในเขตห้ามแซง

 

รูปแบบ “การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน” ต่อการปฏิบัติตามกฎจราจรในแต่ละกลุ่มวัย มีข้อค้นพบดังนี้

  1. ด้านมาตรการความปลอดภัยทางถนน

มาตรการตรวจจับความเร็ว-นอกเขตชุมชน

  • “ทุกกลุ่มวัย” มีแนวโน้มที่จะขับขี่ “นอกเขตชุมชน” ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่เกิน 90 กม./ชม.) โดยเฉพาะในกลุ่มวัย Z หากมีมาตรการตรวจจับความเร็วที่เข้มข้นมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

มาตรการตรวจจับการคาดเข็มนิรภัยในขณะเดินทาง

  • เฉพาะ “กลุ่มวัย Y” มีแนวโน้มที่จะ “คาดเข็มขัดนิรภัย” ในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ หากมีมาตรการตรวจจับการใช้เข็มขัดนิรภัยที่เข้มงวดมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
  1. ด้านการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน

ช่องทางโทรทัศน์

  • “ทุกกลุ่มวัย” มีแนวโน้มที่จะขับขี่ตามกฎจราจร หากได้รับข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่าน “โทรทัศน์” อย่างต่อเนื่อง

ในลักษณะข้อมูลสถิติเชิงวิชาการ และหลักฐานข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน

  • “ทุกกลุ่มวัย” มีแนวโน้มที่จะขับขี่ตามกฎจราจร โดยเฉพาะในกลุ่มวัย X หากมีการอ้างอิงถึง “ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน” อย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์

 

ผู้ดำเนินการศึกษา : มูลนิธิไทยโรดส์
ผู้สนับสนุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปีที่เผยแพร่ : 2565
เอกสารเผยแพร่ : รายงานผลการศึกษา