การเดินทางโดยรถยนต์เป็นการเดินทางหลักอย่างหนึ่งในการคมนาคมปัจจุบัน ความปลอดภัยและความมีประสิทธิภาพในการเดินทาง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรคำนึงถึงซึ่งในแต่ละปีมีอุบัติเหตุเกิดสูงขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลทางสถิติจำแนกตามสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า การขับรถตามกันอย่างกระชั้นชิดซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุการชนท้ายถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ของรถที่ขับตามหลังเว้นระยะห่างระหว่างรถของตนเองกับรถคันหน้าไม่เพียงพอ
วัตถุประสงค์
- พัฒนาแบบจำลองการขับรถตามกันของจีเอ็มลำดับที่ 5 (GM5th Car – following model) เพื่อศึกษาระยะห่างระหว่างรถที่เหมาะสมของรถที่ขับตามกัน
- วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดรูปแบบการทำเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar”
- ประเมินประสิทธิภาพของเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ”Transverse Bar”
ขอบเขตการศึกษา
- การหาระยะห่างระหว่างรถที่เหมาะสมของรถที่ขับตามกันด้วยแบบจำลองการขับรถตามกันของจีเอ็มลำดับที่ 5 (GM5th Car – following model)
- กำหนดรูปแบบการทำเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar”
- เปรียบเทียบระยะห่างระหว่างรถ ก่อนและหลังการติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar”
ผลการศึกษา
ขั้นตอนที่ 1 การพัฒนาแบบจำลองการขับรถตามกันของจีเอ็มลำดับที่ 5 เพื่อหาระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างรถที่ขับตามกัน และกำหนดรูปแบบการทำเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar”
- วิเคราะห์ข้อมูลกระแสจราจรจากการเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้อุปกรณ์แปลงภาพเคลื่อนไหวเป็นข้อมูลจราจร (Autoscope) วิเคราะห์ความเร็ว ปริมาณการไหล ความหนาแน่นและระยะห่างระหว่างรถ โดยวิเคราะห์ข้อมูลเป็นราย 5 นาที
- ระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างรถที่ขับตามกัน คำนวณได้จากสมการความมีเสถียรภาพในแบบจำลองการขับรถตามกัน พบว่าระยะห่างที่ปลอดภัยที่ความเร็ว 97 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่ 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์ของข้อมูลที่ทำการสำรวจมา คือ 47 เมตร เมื่อหักลบความยาวของรถคันหน้า 5 เมตร ระยะสายตามองเห็น 4.5 เมตร และความกว้างของเครื่องหมาย “Transverse Bar” 0.6 เมตร ได้ระยะห่างระหว่างเครื่องหมายแต่ละแถบเป็นระยะ 37 เมตร
- ระยะห่างแนะนำของรูปแบบเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” สำหรับความเร็วต่าง ๆ
- ควรติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” เป็นระยะทาง 5 กม. แบ่งเป็น 3 ชุด แต่ละชุดมี 20 แถบ พร้อมติดตั้งป้ายเตือน 2 แบบ ให้เว้นระยะ 50 เมตรจากคันหน้า และเว้นระยะ 2 แถบจากคันหน้า เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบถึงระยะห่างท่ปลอดภัยในการขับรถตามกันและช่วยลดจำนวนสถิติอุบัติเหตุจากการชนท้าย โดยมีแบบแนะนำในการติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” และป้ายเตือน
ขั้นตอนที่ 2 การประเมินประสิทธิผลของเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการไหลและระยะห่างระหว่างรถยนต์ในระยะก่อนและหลังติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” ใน 4 ช่วงเวลาแยกตามทิศทางการจราจรและช่องจราจร พบว่า ระยะห่างระหว่างรถยนต์มีความแตกต่างกันโดยระยะห่างระหว่างรถยนต์ในระยะหลังติดตั้ง โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นกว่าระยะก่อนติดตั้งอย่างเห็นได้ชัดเจน
- วิเคราะห์สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการชนท้ายหลังติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” โดยรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุบริเวณที่ศึกษาเฉพาะการชนแบบถูกชนท้าย ในช่วงปี พ.ศ. 2554-2561 ทั้งในช่วงก่อนติดตั้งและหลังติดตั้งแล้วเสร็จเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าจำนวนอุบัติเหตุลักษณะการชนแบบถูกชนท้ายเกิดขึ้นเพียง 3 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าในช่วงก่อนติดตั้งตลอด 6 ปีก่อนหน้านั้น
- ผลการทดสอบแบบปัวส์ซอง เมื่อค่าเฉลี่ยของจำนวนอุบัติเหตุจากการชนท้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นมีค่าเท่ากับ 10.714 ครั้งต่อปี พบว่า ค่าความน่าจะเป็นโดยการแจกแจงแบบปัวส์ซอง มีเพียง 0.609% ที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากกาชนท้ายจำนวนน้อยกว่าเท่ากับ 3 ครั้งต่อปี ดังนั้น การติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” มีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุจาการชนท้ายอย่างมีนัยสำคัญที่ความเชื่อมั่น 99.39%
ขั้นตอนที่ 3 ทำการศึกษาความพึงพอใจและพฤติกกรรมของผู้ขับขี่ต่อเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” เก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง คือผู้ขับขี่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ หรือถนนพระรามที่ 2 ด้วยแบบสอบถามเป็นจำนวน 500 ตัวอย่าง
บทสรุป
- แนวทางการลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากการชนท้ายสามารถทำได้โดยใช้หลักการวิศวกรรมจราจรประยุกต์ใช้เครื่องหมายบนผิวจราจร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้เว้นระยะห่างระหว่างรถตนเองกับรถคันหน้าอย่างเพียงพอซึ่งมีลักษณะแบบ “Transverse Bar” ที่มีระยะห่างที่ปลอดภัยคือ 47 เมตร เมื่อหักลบความยาวของรถคันหน้า 5 เมตร ระยะสายตามองเห็น 4.5 เมตร และความกว้างของเครื่องหมาย “Transverse Bar” 0.6 เมตร จึงได้ระยะห่างระหว่างเครื่องหมาย “Transverse Bar” แต่ละแถบเป็นระยะ 37 เมตร และควตติดตั้งเป็นระยะทาง 5 กม. แบ่งเป็น 3 ชุด แต่ละชุดมี 20 แถบพร้อมติดตั้งป้ายเตือน 2 แบบ ให้เว้นระยะ 50 เมตรจากคันหน้าและเว้นระยะ 2 แถบจากคันหน้า เพื่อช่วยเตือนผู้ขับขี่ให้ทราบถึงระยะห่างที่ปลอดภัยในการขับรถตามกันและช่วยลดจำนวนสถิติอุบัติเหตุจากการชนท้าย
- การประเมินประสิทธิผลของเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” มีส่วนช่วยให้ผู้ขับบขี่เว้นระยะห่างระหว่างรถตนเองกับรถคันหน้าเพิ่มมากขึ้น แต่ประสิทธิผลจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และในด้านระยะยาวการติดตั้งเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ หรือ ถนนพระรามที่ 2 มีส่วนช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุจากการชนท้ายอย่างมีนัยสำคัญที่เชื่อมั่น 99.39%
- การศึกษาความพึงพอใจและพฤติกรรมของผู้ขับขี่ต่อเครื่องหมายบนผิวจราจรแบบ “Transverse Bar” โดยผู้ขับขี่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ หรือ ถนนพระรามที่ 2 พบว่ารูปแบบ ระยะห่าง การติดตั้ง “Transverse Bar” มีความเหมาะสมในระดับมาก โดยรูปภาพและข้อความบนป้ายเตือน “เว้นระยะ 50 เมตรจากคันหน้า” ผู้ขับขี่เข้าใจในการสื่อสารโดยป้ายจราจร โดยความพึงพอใจและพฤติกรรมของกลุ่มผู้ขับขี่ที่แตกต่าง พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีสัดส่วนที่ปฏิบัติตามบ่อยครั้งหรือเป็นประจำน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่น
ผู้รับผิดชอบโครงการ : | รศ.ดร.อำพล การุณสุนทวงษ์ และคณะ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี |
ผู้สนับสนุน : | มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่เผยแพร่ : | 2561 |
เอกสารเผยแพร่ : | รายงานผลการศึกษา |