ปัจจุบันมักจะพบเห็นเด็กเล็กโดยสารมากับรถมอเตอร์ไซด์จนเป็นที่คุ้นตา โดยเฉพาะในเวลาเร่งด่วนในสังคมเมืองลักษณะการโดยสารรถมอเตอร์ไซด์ของเด็กนั้นมีหลายรูปแบบ บางครั้งซ้อนด้านหลังและบ่อยครั้งจะเห็นการซ้อนอยู่ด้านหน้าผู้ขี่ อย่างไรก็ดี ความเข้าใจและการรู้ถึงความเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่อยากให้เด็กเล็กนั่งมอเตอร์ไซด์ยังมีอยู่น้อยและไม่เข้าใจถึงการนั่งของเด็กที่เหมาะสม การศึกษาวิจัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เสริมแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2556 – 2559 และ แผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 เพื่อให้เกิดความเข้าใจกลไกการบาดเจ็บ (ลักษณะการเกิดการบาดเจ็บ) และความรุนแรงจากการนั่งมอเตอร์ไซด์ของเด็กเล็กที่เหมาะสม และลดอุบัติเหตุการสูญเสียชีวิตซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทยในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษากลศาสตร์การเคลื่อนที่หลังชน ลักษณะการเกิดการบาดเจ็บและความรุนแรงที่เกิดจากลักษณะการนั่งรถมอเตอร์ไซด์ของเด็กเล็กรูปแบบต่างๆ
- เพื่อกำหนดลักษณะการนั่งที่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กในรถมอเตอร์ไซด์
ขอบเขตการศึกษา
การวิเคราะห์การชนโดยการจำลองตัวเลขระหว่างมอเตอร์ไซด์กับรถยนต์นั่ง จะเป็นแบบการชนด้านข้างของรถยนต์ภายใต้ตำแหน่งที่นั่งเด็กในส่วนด้านหน้าระว่างวงแขนของผู้ขับขี่ และหลังคนขับขี่โดยไม่มีอุปกรณ์เสริมใดๆ ซึ่งกำหนดใช้รถมอเตอร์ไซด์ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 125CC และจำลองช่วงอายุของเด็กระหว่าง 5-8 ปี โดยจำลองการทดสอบการชนจริงของรถมอเตอร์ไซด์กับด้านข้างของรถยนต์จะกระทำ 2 ครั้งกับหุ่นจำลองเด็ก ได้แก่ เด็กนั่งหน้า และเด็กนั่งหลังคนขับขี่
ผลการศึกษา
- จากผลการสุ่มเก็บข้อมูลจำนวนนักเรียน 1,044 คนจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ของโรงเรียนในเขตบางซื่อ 3 แห่ง พบว่า การโดยสารของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เกินครึ่งหนึ่งจะนั่งโดยสารด้านหลังมากกว่านั่งด้านหน้าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์
- การทดสอบการชนรถมอเตอร์ไซด์ที่ด้านข้างของรถยนต์ ในห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ของ ASEAN NCAP ประเทศมาลาเซีย โดยจำลองการทดสอบการชนจริง 2 ครั้ง ได้แก่ กรณีที่เด็กนั่งด้านหลังผู้ขับขี่ และกรณีที่เด็กนั่งหน้าผู้ขับขี่ ผลการทดสอบพบว่า (1) กรณีที่เด็กนั่งด้านหลังผู้ขับขี่สามารถทำความเร็วอยู่ที่ 42.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะเกิดข้อผิดพลาดขาด้านขวาของหุ่นทดสอบถูกรั้งจากอุปกรณ์รับแรงกระแทกทำให้เกิดการเสียหลักในการทรงตัวของหุ่น แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ หุ่นทดสอบเด็กลอยกระแทกที่เสาโครงสร้างรถยนต์ ส่งผลให้ค่าความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head Injury Criteria) อยู่ที่ 7127.9 หรือแรงกระแทกที่ศีรษะเท่ากับ 777.82 เท่าของค่าแรงโน้มถ่วงของโลก ค่าดังกล่าวเทียบเท่ากับค่า AIS ระดับ 6 สำหรับหุ่นผู้ใหญ่แรงบิดที่คอของหุ่นทดสอบ สามารถสังเกตเห็นได้จากภาพการกระแทกด้วยกล้องบันทึกวีดีโอความเร็วสูง และ (2) กรณีที่เด็กนั่งหน้าผู้ขับขี่ สามารถใช้ความเร็วอยู่ที่ 29.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปรับลดต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายใต้ข้อจำกัดอุปกรณ์ปล่อยรถมอเตอร์ไซด์ที่เสียหายในครั้งแรก) พบว่า ค่าความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะเด็กอยู่ที่ 175.3 ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์พิจารณาที่ 1,000 หรือเทียบเท่ากับค่า AIS ระดับ 1 การกระแทกของหุ่นเด็กจะมีอยู่ 2 ครั้ง ในครั้งแรกเกิดจากมวลของตัวหุ่นเด็กที่กระแทกกับระบบบังคับเลี้ยงของมอเตอร์ไซด์ ซึ่งจะเกิดที่หน้าอกของหุ่นเด็ก และการกระแทกครั้งที่สอง จะเกิดขึ้นจากมวลของหุ่นผู้ขับขี่ ซึ่งจะทำให้หุ่นเด็กรับแรงกระแทกที่บริเวณศีรษะและหน้าอก
- ผลการจำลองเชิงตัวเลขโดยใช้ตัวชี้วัดความรุนแรงการบาดเจ็บที่ศีรษะและหน้าอกของหุ่นเด็กภายใต้เงื่อนไขและสภาวะการชนเดียวกัน พบว่า ทั้งสองกรณีไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และการยุบตัวหน้าอกเด็กนั่งหน้าจะสูงกว่ากรณีเด็กนั่งหลัง ร้อยละ 56.29 ดังนั้น ลักษณะการนั่งของเด็กที่เหมาะสม ควรให้เด็กนั้งโดยสารด้านหลังผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มากกว่า รวมถึงควรสวมหมวกนิรภัย และจัดหาที่นั่งเด็กที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่ศีรษะเด็กจากการกระแทกพื้น หรือบางส่วนของโครงสร้างของรถยนต์ อีกทั้งที่นั่งที่เหมาะสมของเด็ก ควรมีการป้องกันไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเด็กลื่นไถลไปกับพื้นหลังจากการชนได้
ผู้รับผิดชอบโครงการ : | รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม รศ.ดร.จุฬาลักษณ์ ค้าไม้ และ Jenson Chen วิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ |
ผู้สนับสนุน : | มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่เผยแพร่ : | 2559 |
เอกสารเผยแพร่ : | รายงานผลการศึกษา |