การศึกษาวิจัยนี้เพื่อศึกษาวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเน้นองค์ประกอบที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุก็คือ “ปัจจัยด้านคน” ซึ่งองค์ประกอบปัจจัยเสี่ยงด้านคน ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรม ด้านทัศนคติและความคิดความเชื่อในการขับขี่บนท้องถนน ถือเป็นปัจจัยและส่งผลต่ออัตราเสี่ยงในเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ดังนั้นถ้าผู้ขับขี่มีทัศนคติหรือได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ผู้ขับขี่จะมีพฤติกรรมที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน (Risk-aversion) ในทางตรงกันข้าม หากผู้ขับขี่มีทัศนคติหรือได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมในการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ปลอดภัย ผู้ขับขี่อาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ (Risk-prone) จึงเป็นที่มาของการศึกษาวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านการอาศัยกรอบแนวคิดตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยสาเหตุที่แท้จริงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน นำไปสู่การออกแบบวางแผนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (Road Traffic Safety Culture) ให้กลายเป็นพฤติกรรมที่ปลอดภัยที่ยั่งยืนแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ต่างๆ และทั่วประเทศไทยได้ในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษาและสำรวจถึงการรับรู้ ทัศนคติ ความคิดความเชื่อ ระดับการยอมรับได้ และความคาดหวังของผู้ใช้รถใช้ถนนและสังคมต่อปัจจัยเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงของอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ศึกษา และพัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการอธิบายถึงวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ศึกษา
- เพื่อสร้างแนวทางในการประเมินวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนของผู้ใช้รถใช้ถนน และสามารถนำไปเปรียบเทียบความแตกต่างของวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระหว่างกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตพื้นที่ศึกษาอื่น และนำไปประเมินผลสัมฤทธิ์ของแผนมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน
ขอบเขตการศึกษา
การศึกษาความแตกต่างของวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 1 ปี 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ถึง กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
- งานทบทวนและสำรวจข้อมูลด้านวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยสำรวจรวบรวมข้อมูลทัศนคติ ความคิดความเชื่อ ความคิดเห็นการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิง และการรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน และข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน โดยกลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
(1) กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ ครอบคลุมการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องพฤติขับรถขณะมึนเมา พฤติกรรมไม่คาดเข็มขัดนิรภัย พฤติกรรมขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และพฤติกรรมใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
(2) กลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ครอบคลุมการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องพฤติกรรมขับรถขณะมึนเมา พฤติกรรมไม่สวมหมวกนิรภัย พฤติกรรมขับขี่ย้อนศร และพฤติกรรมฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
โดยจำแนกเป็น 3 กลุ่มอ้างอิงตามภูมิลำเนาของกลุ่มตัวอย่างพื้นที่เชียงใหม่ ได้แก่ กลุ่มของผู้อาศัยเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ กลุ่มของผู้อาศัยในอำเภอรอบนอกภายในจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่เป็นคนนอกพื้นที่
2. งานวิเคราะห์ประเมินผลข้อมูล ตลอดจนนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนของแต่ละหน่วยงานต่อไป
ผลการศึกษา
จากผลการวิเคราะห์พฤติกรรมความปลอดภัยของกลุ่มตัวอย่างพบว่า
ผู้ขับขี่ที่มีภูมิลำเนาในเขตเมืองกับผู้ขับขี่ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอรอบนอก
- กลุ่มของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่อยู่ในอำเภอรอบนอก ค่อนข้างจะยอมรับพฤติกรรมเมาแล้วขับได้มากกว่ากลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเมือง ซึ่งอาจเป็นผลสะท้อนจากรูปแบบวิถีชีวิตที่ค่อนข้างผูกพันกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในหลายวาระโอกาส
- กลุ่มผู้ใช้รถในเขตเมืองมีแนวโน้มจะยอมรับได้ในพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถเดินทางได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยที่ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง เช่น พฤติกรรมขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่ให้สัญญาณจอด/ชะลอ/เลี้ยวเปลี่ยนช่องจราจร ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะของสังคมเมืองที่มีความเร่งรีบมากกว่าในสังคมชนบท
- ส่วนของพฤติกรรมเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร เช่น การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย กลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่นอกเมืองกลับมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญน้อยกว่าในเขตเมือง โดยหากจะปฎิบัติมักจะเป็นด้วยเหตุผลของการหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ต่างจากผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตเมืองที่ตระหนักถึงประโยชน์และโอกาสในการลดความเสียหายจากอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นมากกว่า
ผู้ใช้รถใช้ถนนในท้องถิ่นกับผู้ใช้รถใช้ถนนจากต่างถิ่น
- การใช้ความเร็วที่โดยเฉลี่ยผู้ใช้รถใช้ถนนต่างถิ่นค่อนข้างจะใช้ความเร็วที่สูงกว่า หรือลักษณะของการขับขี่ การเปลี่ยนช่องทางกะทันหันของผู้ใช้รถต่างถิ่นที่อาจทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน ซึ่งเป็นผลจากรูปแบบพฤติกรรมการขับขี่ที่แตกต่างกัน เช่น ความเร็วที่ใช้ พฤติกรรมการเปลี่ยนช่องจราจรขณะขับขี่ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับกับพฤติกรรมขับขี่ของคนต่างถิ่น รวมถึงไม่คุ้นชินกับรูปแบบการขับขี่และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
ผู้ใช้รถใช้ถนนในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
- นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีความตระหนักถึงภัยและผลกระทบของพฤติกรรมเสี่ยงทั้งต่อตนเองและผู้อื่นมากกว่ากลุ่มของนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากการปลูกฝังทัศนคติด้านวัฒนธรรมความปลอดภัยตั้งแต่เด็ก และสภาพสังคมที่ค่อนข้างเข้มแข็งในด้านของวินัยจราจร ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย หรือจิตสำนึกรักความปลอดภัยของประชาชน จึงทำให้ตระหนักถึงความเสี่ยงมากกว่า
- กลุ่มของนักท่องเที่ยวไทยจะคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองเป็นหลัก ไม่ค่อยสนใจผลที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่นมากนัก จึงมีแนวโน้มที่ยังคงจะทำพฤติกรรมเสี่ยงในบางโอกาสหากมองว่าตนสามารถควบคุมได้หรือเป็นประโยชน์กับตน เช่น พฤติกรรมขับรถเร็ว การใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ หรือการไม่คาดเข็มขัด ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น
- บางครั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีการกระทำพฤติกรรมเสี่ยงแม้จะตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากคล้อยตามรูปแบบพฤติกรรมในพื้นที่ หรือการตรวจจับบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดเท่ากับในประเทศของตน
ผู้รับผิดชอบโครงการ : | ดร.นพดล กรประเสริฐ ดร.ปรีดา พิชยาพันธ์ และคณะ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
ผู้สนับสนุน : | มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่เผยแพร่ : | 2560 |
เอกสารเผยแพร่ : | รายงานผลการศึกษา |