การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วและอุบัติเหตุบนถนนประเภททางด่วน และมอเตอร์เวย์ พร้อมทั้งจัดทำ Crash Modification Factor เพื่อใช้ในการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอุบัติเหตุที่การใช้ความเร็วระดับต่างๆ
สาเหตุของอุบัติเหตุจราจรที่เป็นสัดส่วนมากที่สุด คือ “การใช้ความเร็วที่เกินเหมาะสม” หรือ “การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด” ในแต่ละประเภทของถนน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ขับขี่ได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตเทศบาลเมืองพัทยา กรุงเทพมหานครและบนทางหลวงชนบท และไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสำหรับนอกเขตดังกล่าว ส่วนทางหลวงพิเศษ จะอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลขับขี่ได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบนทางหลวงพิเศษ เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และหมายเลข 9 ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดการใช้ความเร็วบนท้องถนนดังกล่าว สถานการณ์ของการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากการใช้ความเร็วที่เกินอัตราที่กำหนดยังคงทวีความรุนแรงและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์
- เพื่อศึกษารายละเอียดของขั้นตอนและวิธีการวิเคราะห์ รวมทั้งข้อสรุปด้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงความเร็วบนท้องถนนต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยแบ่งเป็นความรุนแรงประเภทต่างๆ เช่น การเสียชีวิต และบาดเจ็บ
- เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วและอุบัติเหตุบนถนนประเภททางด่วน และมอเตอร์เวย์
- เพื่อจัดทำเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ (CMF) เพื่อใช้ในการคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอุบัติเหตุที่การใช้ความเร็วระดับต่างๆ และสร้างแบบจำลองคาดการณ์ CMF สำหรับสถานการณ์การปรับเปลี่ยนความเร็วต่างๆ
ขอบเขตการศึกษา
การเก็บรวบรวมข้อมูลจราจรและอุบัติเหตุจากมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ จำนวน 3 สายทาง ได้แก่ ทางด่วนบางพลี-บางขุนเทียน ถนนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และถนนมอเตอร์เวย์หมายเลย 9 และนำไปใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์และจัดทำ CMF ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 สิงหาคม 2557
ผลการศึกษา
ความแตกต่างระหว่างความเร็วลำดับที่ 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์และลำดับที่ 15 เปอร์เซ็นต์ไทล์มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยความแตกต่างความเร็วที่มากขึ้นจะมีผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้นตามไปด้วย การกำหนดความเร็วสูงสุดและต่ำสุดบนถนนประเภทดังกล่าวจะสามารถช่วยลดความแตกต่างความเร็วลง ซึ่งจะทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลต่างความเร็วที่มีความเหมาะสมจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังพบว่าการลดความเร็วจราจรลำดับ 85 เปอร์เซ็นต์ไทล์ลงด้วยอัตราตั้งแต่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้น จะทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่า CMF เฉลี่ยอยู่ในช่วงไม่เกิน 0.5
ผู้รับผิดชอบโครงการ : | ดร.วศิน เกียรติโกมล และคณะ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี |
ผู้สนับสนุน : | มูลนิธิไทยโรดส์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่เผยแพร่ : | 2557 |
เอกสารเผยแพร่ : | รายงานผลการศึกษา |