ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery Platform) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อร้านอาหารและชีวิตผู้คนท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างปฏิเสธไม่ได้ ทั้งอัตราการเติบโตของตลาดและกลยุทธ์ต่างๆ ของธุรกิจแพลตฟอร์มได้ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดกองทัพไรเดอร์ คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับส่งอาหาร ให้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงหน้าใหม่ท่ามกลางโควิด โดยเฉพาะการเผชิญความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนมากขึ้นทั้งผลจากพฤติกรรมการขับขี่ สภาพการทำงานที่เสี่ยงอันตราย รวมถึงแนวทางส่งเสริมด้วยรางวัลและบทลงโทษของผู้ประกอบการ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาและความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ข้างต้น ดังนั้น มูลนิธิไทยโรดส์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) กรุงเทพมหานคร ปี 2564” เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน โดยผลจากการสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ ในเขตกรุงเทพมหานคร 6 จุดสำรวจ ครอบคลุมเขตพื้นที่ตัวแทนร้านอาหารยอดนิยมในกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2564 ซึ่งมีข้อค้นพบที่สำคัญใน 4 ประเด็นหลัก คือ เรื่องการสวมหมวกนิรภัย เรื่องการใช้มือจับแฮนด์เพื่อควบคุมรถจักรยานยนต์ เรื่องการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางแยก และการจอดล้ำเส้นแนวหยุดขณะรอสัญญาณไฟจราจร เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของสถานการณ์ปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้น อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการรับรู้และการสื่อสารข้อมูลถึงกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ในการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
รับผิดชอบโครงการ : | มูลนิธิไทยโรดส์ |
ผู้สนับสนุน : | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่ดำเนินการ : | 2563 – 2564 |