พฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือของผู้คนในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวว่า ปัญหาการใช้โทรศัพท์ในที่สาธารณะกำลังเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคนจำนวนมากสนใจแต่โทรศัพท์ในมือของตนเองจนเกิดปัญหาต่อสังคม ความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่เกิดทางถนนที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามถนนหรือคนเดินเท้านั้น มีความรุนแรงกว่าอุบัติเหตุที่เกิดจากยานพาหนะด้วยกันเองมาก โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความประมาทของคนข้ามถนนหรือคนเดินเท้า
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่ได้มีการศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้ที่ใช้โทรศัพท์ระหว่างข้ามถนนอย่างชัดเจน ทั้งยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าการใช้โทรศัพท์ขณะข้ามถนนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ทางมูลนิธิไทยโรดส์จึงได้สำรวจเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสังเกต (Observational survey) พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือขณะข้ามถนนของคนเดินเท้าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 20 จุด ซึ่งการเลือกจุดสำรวจพิจารณาจากการเป็นย่านบริษัทขนาดใหญ่ ย่านชุมชน ย่านตลาด ย่านมหาวิทยาลัย โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มอาชีพพนักงานออฟฟิศ นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งวิเคราะห์ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจข้ามถนน เพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการข้ามถนนที่อาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุและนำข้อมูลมาประกอบเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับคนเดินเท้าในการข้ามถนนต่อไป
รับผิดชอบโครงการ : | มูลนิธิไทยโรดส์ |
ผู้สนับสนุน : | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
ปีที่ดำเนินการ : | 2559 |