“ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2568 สสส.สานพลัง สคอ. ภาคีเครือข่าย ลดเจ็บ-ตายช่วงเทศกาลเน้นย้ำ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว สวมหมวกนิรภัย พบดื่มแล้วขับสาเหตุหลักของความสูญเสียเทศกาลปีใหม่ 23.16% ส่งผลต่อการขับขี่-คิดช้า-ตัดสินใจพลาด-หลับใน “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร”

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ที่ MCC Hall เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน อ.เมือง จ.นนทบุรี  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย แถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ปีใหม่ 2568 เน้นย้ำรณรงค์ช่วงเทศกาลสำคัญ นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.  กล่าวว่า ข้อมูล 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเกิดจากดื่มแล้วขับมากถึง 23.16% แอลกอฮอล์หลังถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ส่งผลต่อสื่อประสาท สูญเสียการควบคุมตัวเอง เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัว ถ้าได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะกดการหายใจ ทำให้รู้สึกตัวน้อยลง และยังทำให้ตัดสินใจช้าลง เหยียบเบรกไม่ทัน

“การดื่มส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ 1. มองไม่เห็นคนข้ามถนน แอลกอฮอล์ส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา 2. สมองสั่งเบรกไม่ทัน แอลกอฮอล์ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากสมองสู่อวัยวะส่วนอื่นช้าลง 3. ตัดสินใจผิดพลาด แอลกอฮอล์ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจเมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า 4. ง่วงซึม หลับใน แอลกอฮอล์ทำให้ประสาทเฉื่อยชา สสส. เดินหน้ารณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ด้วยแคมเปญ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” ผลิตสปอตโฆษณาชื่อ “ฝังใจ” ภายใต้แนวคิด “ดื่มแล้วขับอาจเป็นฆาตกร และอาจทำให้กลับไม่ถึงบ้าน” เพื่อสื่อสารกระตุ้นเตือนให้คนตระหนักถึงผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ ให้หยุดคิดก่อนตัดสินใจ ดื่มแล้วขับ”  นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า สสส. มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ยานพาหนะ และส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยร่วมกับเครือข่าย เช่น สอจร. จัดกิจกรรมใน 222 อำเภอเสี่ยงทั่วประเทศ เน้น 3 มาตรการสำคัญ ดื่มไม่ขับ ไม่ขับเร็ว สวมหมวกนิรภัย พร้อมรณรงค์ในระดับชุมชน ผ่าน “ด่านตรวจเตือน” ยับยั้งดื่มแล้วขับออกจากบ้าน ในระดับตำบล ดำเนินมาตรการลดอุบัติเหตุ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” 189 แห่ง รวมถึงเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ที่เน้นย้ำมาตรการตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดจากอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กเยาวชน นอกจากนี้เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และกลุ่มพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน นำโดยคุณรัชนี สุภวัตรจริยากุล แม่หมอกระต่าย ร่วมรณรงค์ในพื้นที่เสี่ยง และเครือข่ายชุมชน กทม.ตั้งด่านสกัดเตือนป้องกันอุบัติเหตุ โดย อาสาสมัครสาธารณสุข เทศกิจ แกนนำชุมชน นำร่อง 2 เขต ที่เขตหลักสี่และบึงกุ่ม โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บในช่วงเทศกาลปีใหม่

นางสาวจุฑามาศ  เดชพิทักษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สถิติตัวเลขความสูญเสียในช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2565 เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน เสียชีวิต 333 ราย ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุ 2,440 คน บาดเจ็บ 2,437 คน เสียชีวิต 317 ราย และในปี 2567 ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ 2,288 ครั้ง บาดเจ็บ รวม 2,307 คน เสียชีวิต รวม 284 ราย สาเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 40.6%  ตัดหน้ากระชั้นชิด 23.31%  ดื่มแล้วขับ 14.29% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 87.01%  ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี 19.67%  ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ดำเนินงานภายใต้หัวข้อหลักในการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และอุบัติภัยอื่น ๆ ในช่วงวันหยุด เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสุขใจ

พ.ต.อ.อังกูร ทวีเกตุ ผู้กำกับการจราจร กองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเทศกาลปีใหม่ 2568 ช่วงคุมเข้ม 27 ธ.ค. 2567-2 ม.ค. 2568  บังคับใช้กฎหมาย เน้น 10 ข้อหา เน้นหนักเรื่องการดื่มแล้วขับ ในปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมามีการจับกุมข้อหาเมาแล้วขับสูงถึง 20,917 ราย ตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเมาแล้วขับที่กระทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 รวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้องต่อศาลให้ได้รับโทษสูงขึ้น สำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก และเยาวชน ใช้มาตรการสืบสวนขยายผลไปยังร้านค้าที่จำหน่ายสุรา โดยมีบัญชีร้านค้าเสี่ยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลย หรือสนับสนุนให้เด็ก และเยาวชนดื่มสุราตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง ทั้งนี้บทลงโทษดื่มแล้วขับหากทำผิดครั้งแรก มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท ทำผิดซ้ำข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

นายณัฐวุฒิ อุประโจง นายก อบต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน กล่าวว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของ อบต.มี 5 หมู่บ้าน มีจุดเสี่ยงอันตรายสูงคือสี่แยกม่อนแสงดาวที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพราะไม่มีสัญญาณไฟจราจรชาวบ้านใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน 2 ฝั่งถนน จึงได้ประสานกับแขวงการทาง เห็นว่ามีอุปกรณ์ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรที่ปลดระวาง และยังมีสภาพที่สามารถใช้งานต่อได้ จึงมีแนวคิดที่จะขอมาเป็นไฟจราจรมือสอง หลังจากมีการติดตั้งพบว่าอุบัติเหตุเป็นศูนย์ นอกจากนี้ สสส. ได้สนับสนุนในการทำงานตำบลขับขี่ปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ ด้วยการทำสัญลักษณ์เตือนระวังด้วยการปักธงแดงตามจุดเสี่ยง สร้างจิตอาสาพิทักษ์จุดเสี่ยงในแต่ละหมู่บ้าน จัดหากรวย และกระบองไฟเป็นอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อดูแลไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ณ จุดเหตุ  และมีการซ้อมแผนฉุกเฉินทุกหมู่บ้าน โดยในวันที่ 27 ธ.ค. 2567 ทางอบต.จะร่วมกับอำเภอ และจังหวัดจัดกิจกรรมความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาล โดยจะมี อปท.กว่า 15 แห่งเข้าร่วม

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า การเดินทางแต่ละครั้งมักจะพบความสูญเสียเกิดขึ้นในระดับพื้นที่ และระหว่างการเดินทาง การสื่อสารในระดับพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ การดื่มเฉลิมฉลองนำมาซึ่งความสูญเสีย  ดังนั้นบทบาทสื่อสารในระดับพื้นที่ จึงมีความสำคัญรวมทั้งการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ที่จะคอยย้ำเตือนให้ระมัดระวังมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดไหนที่มีการดื่มฉลองหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวควรเน้นย้ำเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีการเตรียมลงพื้นที่กรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาสื่อสารสังคม ขณะเดียวกันระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาก่อนเทศกาลปีใหม่ ได้มีเหตุความสูญเสียจากการดื่มแล้วขับอย่างต่อเนื่อง สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับคนในครอบครัวที่ต้องเสียคนที่รักไปอย่างไม่อาจหวนคืนได้ ฉะนั้นการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้  ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพฤติกรรมการขับขี่ เพราะ “ ดื่มแล้วขับ ระวังกลับไม่ถึงบ้าน”