เครือข่ายรัฐสภา องค์การอนามัยโลก พร้อมภาคีด้านความปลอดภัยทางถนนไทยร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเคลื่อนบทบาทนิติบัญญัติเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย…
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (ซอยรางน้ำ) แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน มูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้จัด “เวทีสัมมนาเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาเพื่อความปลอดภัยทางถนน” โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในพิธีฯ
กล่าวถึงปัญหาอุบัติเหตุถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตนเห็นชอบข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนผ่านกลไกรัฐบาล ในการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อกำกับติดตามการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นเจ้าภาพหลัก ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุระดับชาติ โดยตนได้นัดหารือร่วมกับนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อมูลก่อนเสนอประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบจัดตั้งคณะกรรมการให้ทันภายในเดือนสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้คณะกรรมการฯ สามารถกำหนดแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้องได้ทันในการลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567
อีกทั้ง นายวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายวิชาการความปลอดภัยได้ขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุทางถนน จึงมีข้อเสนอความเห็นเชิงนโยบายต่อสมาชิกรัฐสภา ดังนี้
1. พิจารณาวางกลไกของรัฐสภา จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการ กำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง กำหนดให้มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบ และเสนอความก้าวหน้าทุก 3 เดือน ซึ่งข้อเสนอนี้ทางรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้กำหนดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทันที
2. เสนอให้มีระบบโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนที่ชัดเจน และพิจารณาผลักดันร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร
3. เสนอให้ถอดพ.ร.บ. 5 ฉบับ ออกจากแนบท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ลดผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
4. พิจารณาอย่างรอบด้านต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ป้องกันแก้ไขปัญหาการดื่มแล้วขับขี่
5. ผลักดัน 4 มาตรการที่ได้ผลดีผ่านกลไกรัฐสภา ให้การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในไทยลดลงได้ตามเป้าหมายแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5
ทั้งนี้ มูลนิธิไทยโรดส์ได้รับเกียรติร่วมนำเสนอและจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง “เทคโนโลยี AI เพื่อการติดตามและประเมินผลมาตรการการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์” และ “ความเร็วจำกัดในเขตเมืองหรือเขตชุมชนควรเป็นเท่าไหร่” แนวทางการกำหนดความเร็วในเขตเมืองและเขตเทศบาล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้แทนคณะกรรมาธิการและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนนของทั้งสองสภา ผู้แทนเครือข่ายสถานทูต ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เดนมาร์ก โปแลนด์ เบลเยี่ยม และอังกฤษ องค์การสหประชาติ UNDP และ UNESCAP เครือข่ายนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ภาคีลดอุบัติเหตุทางถนน และหน่วนงานภาคีด้านความปลอดภัยทางถนน มากถึง 30 องค์กร