เมื่อวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิไทยโรดส์ได้รับเกียรติเข้าร่วมงานแถลงข่าว “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึง…กลับให้ถึงอย่างปลอดภัย” ปี 2564 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สร้างกระแสรับรู้ เพิ่มความตระหนักขับขี่ปลอดภัยในแบบชีวิตวิถีใหม่แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ภายในงานมีการแสดงร่วมสมัยชุด รำกลองยาวสงกรานต์เถิดเทิง พร้อมทั้งสปอตวิดีโอ รณรงค์ความปลอดภัยทางถนนช่วงสงกรานต์ และช่วงพิธีการแถลงข่าว “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึง…กลับให้ถึงอย่างปลอดภัย” มีผู้ร่วมแถลงข่าว ดังนี้
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สสส.) กล่าวว่า
สงกรานต์ปีนี้น่าจะมีวันหยุดยาวติดต่อกัน 6-9 วัน คาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้เดินทางทั้งกลับบ้านและท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากปีที่แล้วหลายคนไม่ได้กลับบ้าน เพราะสถานการณ์โควิด -19 เมื่อจำนวนผู้เดินทางสูง โอกาสเกิดอุบัติเหตุจึงสูงตามไปด้วย ปีนี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุทางถนนได้รณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึงกลับให้ถึง อย่างปลอดภัย” เน้น “ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อค และขับไม่เกิน 80” เพราะอุบัติเหตุทำให้ใครหลายคนเดินทางกลับบ้านไม่ถึงบ้าน สสส. จึงมาชวนให้ทุกท่านใช้ความคิดถึงกันให้คุ้มค่า เดินทางให้ถึงบ้านอย่างปลอดภัย ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ชี้ว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอันดับต้นๆ คือ ดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกำหนด และโดยส่วนใหญ่แล้วไม่สวมหมวกนิรภัย อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่และสงกรานต์ พบว่า มากกว่า 50% ของจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตมีแอลกอฮอล์ร่วมด้วย จะเห็นว่าช่วงเทศกาลเป็นช่วงของการฉลองและการดื่มกิน แอลกอฮอล์มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงมาก ในเดือนเมษายนของปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ที่ได้ออกมาตรการห้ามขายแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้ผลอย่างมากทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง และยังส่งผลให้อุบัติเหตุทางถนนลดลงตามไปด้วย พบ ช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ เว้นจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึง 43% เมื่อเทียบกับปี 2562 และทำให้ยอดผู้ถูกคุมพฤติในคดีเมาแล้วขับ ฌพาะเดือนเมษายน 2563 ลดลงถึง 96% เมื่อเทียบกับปี 2562 หากประชาชนและทุกหน่วยงานช่วยกัน เชื่อว่าเราจะฉลองทุกเทศกาลได้อย่างปลอดภัย
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า
หลังจากรัฐบาล ประกาศสงกรานต์ปีนี้งดสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ลดเสี่ยงโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุบัติเหตุลดลงเหมือนปีที่ผ่านมา เนื่องจากงดกิจกรรมบันเทิง สำหรับคนที่เดินทางกลับบ้านโดยรถส่วนตัว และไม่เคยขับรถทางไกล ต้องเพิ่มความระมัดระวัง สวมหน้ากากอนามัย ไม่พาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และในปีนี้ สคอ.ได้เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกแขนงช่วยเผยแพร่ข่าวสารให้ถึงประชาชนในการขับขี่ปลอดภัย เน้นย้ำถึงความเสี่ยงและโทษของการดื่มแล้วขับ ขับเร็วและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนผลิตสื่อประชาสัมพันธ์กระจายแก่ภาคีทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่า ปี 2562 เกิดเหตุ 3,338 ครั้ง บาดเจ็บ 3,442 ราย เสียชีวิต 386 ราย และในปี 2563 เกิดเหตุ 1,307 ครั้ง บาดเจ็บ 1,260 ราย เสียชีวิต 167 ราย สาเหตุจากขับเร็วและดื่มแล้วขับ ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญช่วงสงกรานต์คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59 พาหนะเสี่ยงสุดคือ มอเตอร์ไซค์(ส่วนบุคคล) เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 79.39 รองลงมาคือรถปิกอัพ ร้อยละ 6.35 นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิต สูงถึงร้อยละ 17.80
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า
ปัจจุบันสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นหรือความจำเป็นต่อการใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน จำนวน 1,151 คน เรื่องความเชื่อและสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทย ปี 2562 ระบุว่าเด็กและเยาวชนกว่าร้อยละ 26.2 เคยเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ล้มและลื่นไถล และกว่าร้อยละ 9.4 ถูกเฉี่ยวชนขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ และจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวร้อยละ 5.4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งในเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ กลุ่มวัยรุ่น คือ กลุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง เพราะขับด้วยความเร็ว คึกคะนอง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ค่อยสวมหมวกกันน็อก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสีย จึงอยากฝากไปถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ที่ปลอดภัย ไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
นายสุรินทร์ หอมชื่นใจ กำนันตำบลแสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี กล่าวว่า
ตำบลแสลงพัน มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 2,000 คน กลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งในพื้นที่มีจุดเสี่ยงทางโค้งอันตราย 3 จุด ที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่วนสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต มีเพียงบาดเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนการทำงานเฝ้าระวังช่วงสงกรานต์แม้จะมีประกาศไม่ให้เล่นน้ำ แต่การทำงานยังเข้มข้นเหมือนเดิม โดยทีมสหวิชาชีพที่เป็นจุดแข็งของพื้นที่ตำบลแสลงพัน วางแผนและกไหนดมาตรการเฝ้าระวังปิดกั้นจุดเสี่ยงตามเส้นทางต่างๆ โดยเฉพาะการตั้ง “ด่านชุมชน” เพื่อสกัดกลุ่มเสี่ยงที่เข้าออกหมู่บ้าน พร้อมคัดกรองโรคโควิด-19 โดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หากตรวจพบว่ามีความเสี่ยง เมา หรือสภาพไม่พร้อม ก็จะให้นำรถกลับบ้านทันทีและคาดโทษไว้ หากทำผิดซ้ำจะยึดรถไว้และให้นำญาติมาพร้อมด้วย จึงจะยอมให้นำรถกลับไปได้ นอกจากนี้ยังได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านหอกระจายข่าวและรถเคลื่อนที่ ให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น